วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จำนวนโรงงานในจังหวัดราชบุรี ณ ธันวาคม 2553

จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดราชบุรี
(ที่มาข้อมูล สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ณ เดือนธันวาคม 2553)


รวมทั้งจังหวัด
  • จำนวน 1,382 โรงงาน
  • เงินทุน 88,974,307,473 บาท
  • คนงาน ชาย 28,632 คน หญิง 26,864 คน รวม 55,496 คน
  • แรงม้า 35,078,769


แยกรายอำเภอ
(เรียงตามจำนวนโรงงานมากไปหาน้อย)
อำเภอบ้านโป่ง
  • จำนวน 467 โรงงาน
  • เงินทุน 22,184,894,709 บาท
  • คนงาน ชาย 13,740 คน หญิง 13,362 คน รวม 27,102 คน
  • แรงม้า 1,308,886.66
อำเภอเมือง
  • จำนวน 351 โรงงาน
  • เงินทุน 52,199,219,230 บาท
  • คนงาน ชาย 6,121 คน หญิง 3,533 คน รวม 9,654 คน
  • แรงม้า 31,379,204.96
อำเภอโพธาราม
  • จำนวน 241 โรงงาน
  • เงินทุน 6,186,984,514 บาท
  • คนงาน ชาย 4,738 คน หญิง 7,494 คน รวม 12,232 คน
  • แรงม้า 318,248.61
อำเภอปากท่อ
  • จำนวน 130 โรงงาน
  • เงินทุน 2,182,459,000 บาท
  • คนงาน ชาย 1,505 คน หญิง 627 คน รวม 2,232 คน
  • แรงม้า 113,559.51
อำเภอจอมบึง
  • จำนวน 58 โรงงาน
  • เงินทุน 1,760,527,900 บาท
  • คนงาน ชาย 534 คน หญิง 619 คน รวม 1,153 คน
  • แรงม้า 18,949.36
อำเภอดำเนินสะดวก
  • จำนวน 54 โรงงาน
  • เงินทุน 2,190,819,780 บาท
  • คนงาน ชาย 677 คน หญิง 217 คน รวม 894 คน
  • แรงม้า 1,889,716.21
อำเภอบางแพ
  • จำนวน 46 โรงงาน
  • เงินทุน 1,807,669,835 บาท
  • คนงาน ชาย 905 คน หญิง 262 คน รวม 1,167 คน
  • แรงม้า 38,028.16
อำเภอสวนผึ้ง
  • จำนวน 16 โรงงาน
  • เงินทุน 78,817,505 บาท
  • คนงาน ชาย 103 คน หญิง 156 คน รวม 259 คน
  • แรงม้า 2,297.29
อำเภอบ้านคา
  • จำนวน 11 โรงงาน
  • เงินทุน 361,090,000 บาท
  • คนงาน ชาย 245 คน หญิง 473 คน รวม 718 คน
  • แรงม้า 8,933.86
อำเภอวัดเพลง
  • จำนวน 8 โรงงาน
  • เงินทุน 21,825,000 บาท
  • คนงาน ชาย 64 คน หญิง 21 คน รวม 85 คน
  • แรงม้า 944.72


**************************************************
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พลิกฟื้นย่านการค้า "โอ่ง อ่าง กระถาง ดิน เจดีย์หัก"

ปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2554 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดราชบุรี (สมัย น.ส.พัชรี พงษ์พิทักษ์ ดำรงตำแหน่งพาณิชย์จังหวัด)  ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและผู้ประกอบการค้าฯ ในจังหวัดราชบุรี พยายามที่จะพลิกฟื้นและพัฒนาพื้นที่แถวถนนเจดีย์หัก-เขางู ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี ให้เป็นย่านการค้าอย่างจริงจัง โดยมุ่งให้เป็น "ย่านการค้า โอ่ง อ่าง กระถาง ดิน เจดีย์หัก" ที่สำคัญ ด้วยความหวังที่จะฟื้นธุรกิจการค้าโอ่ง อ่าง กระถาง ดิน แถบนี้ ให้เป็นย่านการค้าของจังหวัดราชบุรีที่ติดตลาด และเป็นที่รับรู้ในระดับชาติ  ขยายช่องทางการค้าเพิ่มขึ้น เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาศักยภาพกลุ่มอาชีพเหล่านี้ให้เกิดขึ้นโดยแท้จริง และมุ่งพัฒนาให้เป็นการบริการธุรกิจแบบครบวงจร


ย่านการค้า โอ่ง อ่าง กระถาง ดิน เจดีย์หัก
บริเวณสนามแดง ถ.สายเจดีย์หัก-เขางู ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี
ที่มาของภาพ : Google Maps

ผลจากการสำรวจพื้นที่และทำเลที่ตั้งของสถานประกอบการธุรกิจในจังหวัดราชบุรี ของพาณิชย์จังหวัดราชบุรี พบว่า ชุมชนบ้านเอื้ออาทร ตำบลเจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นย่านการค้าจังหวัดที่สำคัญได้ เนื่องจากในบริเวณพื้นที่นี้ มีผู้ประกอบการค้าโอ่งมังกร ซึ่งเป็นโอ่งที่มีชื่อเสียงของจังหวัดราชบุรี และยังมีธุรกิจการค้ากระถาง อ่าง ดินและปุ๋ยใส่ต้นไม้ รวมแล้วกว่า 30 ราย

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของโรงเผาโอ่ง อ่าง กระถาง อีกกว่า 17 ราย และมีรถเร่มานำโอ่งมังกร กระถาง ดินและปุ๋ยไปจำหน่ายแก่ผู้บริโภคอีกวันละไม่ต่ำกว่า 200 คัน  ซึ่งเห็นว่าหากสามารถพัฒนาศักยภาพธุรกิจเหล่านี้ให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพ ส่งเสริม และเอื้อประโยชน์ด้านการค้าต่อกันได้ จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและชุมชนอย่างเต็มที่

"โอ่ง อ่าง กระถาง ดิน นั้นสามารถทำการซื้อ-ขาย กันได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และในช่วงเทศกาลต่างๆ การค้าย่านแถวนี้จะคึกคักมาก เพราะถนนเจดีย์หักเป็นเส้นทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของราชบุรี คือ อ.จอมบึง, อ.สวนผึ้ง, อ.บ้านคา นอกจากนั้นยังสามารถเดินทางเลี้ยวขวาต่อไปยัง วัดหนองหอย และเลยไปท่องเที่ยวแถบ อ.โพธาราม  และ อ.บ้านโป่ง ได้อีกด้วย และหากเดินทางผ่านมาบนถนนเพชรเกษม ก็สามารถแวะเลี้ยวเข้าไปได้เพียงไม่กี่กิโลเมตรก็ถึง"  

เพื่อเป็นการโปรโมทย่านการค้าแห่งนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดราชบุรี ได้ร่วมมือกับจังหวัดราชบุรี หน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ อบจ.ราชบุรี อบต.เจดีย์หัก การค้าภายในจังหวัดราชบุรี การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี หอหารค้าจังหวัดราชบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี สมาคมเครื่องเคลือบดินเผาจังหวัดราชบุรี และผู้ประกอบการในย่านการค้าฯ ได้จัดงาน "จัดสวน แต่งบ้าน ครั้งที่ 1" ขึ้น ในระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ณ "ย่านการค้า โอ่ง อ่าง กระถาง ดิน เจดีย์หัก" บริเวณสนามแดง (ข้างปั้มพีที) ถนนสายเจดีย์หัก-เขางู ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยในงานมีกิจกรรมการสาธิตการปั้นโอ่งมังกรและการเขียนลาย-การติดลาย การจัด Display ตกแต่งสวนหย่อม พร้อมทั้งการจำน่ายสินค้าต่างๆ ด้วย

********************************************

ที่มาข้อมูล
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดราชบุรี. (2554). เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์การจัดงาน "จัดสวน แต่งบ้าน ครั้งที่ 1". หนังสือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดราชบุรี ที่ รบ.0015/ว.432 ลงวันที่ 28 เม.ย.2554.
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บ้านท่าเสา ท่าค้าไม้สำคัญของมณฑลราชบุรี


บ้านท่าเสา ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
ภาพจาก Google Map













บ้านท่าเสา ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี  นี้ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ในอดีตเคยเป็นท่าค้าไม้ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของมณฑลราชบุรี ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2437-2476  ซึ่งตอนนั้นมณฑลราชบุรีประกอบไปด้วย 5 จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคิรีขันธ์ กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม โดยมีศูนย์กลางมณฑลอยู่ที่ จ.ราชบุรี  ผู้เขียนเองก็เกิดที่บ้านท่าเสานี้เอง...แต่ค้นหาบันทึกเรื่องราวของบ้านท่าเสานี้ค่อนข้างยากนัก เพราะคนสมัยก่อนชอบเล่าต่อๆ กันมาไม่ค่อยมีการบันทึก  เรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ก็ค่อยๆ สูญหายและผิดเพี้ยนไป

ในปัจจุบันที่บ้านท่าเสา ก็ยังพอเห็นร่องรอยของการเป็นท่าค้าไม้ที่สำคัญในอดีตให้เห็นอยู่บ้าง โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงความเหลือเฟือของทรัพยากรไม้ในสมัยนั้น ก็คือ "การใช้เสามาทำเป็นรั้วบ้าน" โดยปักเรียงกันแบบต้นต่อต้นเรียงติดต่อกันไปจนเป็นอาณาเขตของบ้าน

ที่บ้านท่าเสาปัจจุบัน ยังมีร่องรอยของการใช้เสามาทำเป็นรั้วบ้าน
ในหนังสือสมุดราชบุรี ซึ่งพิมพ์ขึ้นปี พ.ศ.2486 ได้กล่าวถึงเรื่องไม้แก่น (ไม้เนื้อแข็ง) ต่างๆ เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ตะเคียน ไม่มะเกลือ ไม้ตะแบก ไม้อินทนิน ไม้เคี่ยม ฯลฯ รวมทั้งไม่ไผ่และ ไม้รวกด้วย ซึ่งมีอยู่มากมายในเขตป่าของ จ.ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคิรีขันธ์ โดยมียอดจำหน่าย ที่สรุปไว้ดังนี้
  • ไม้แก่นและไม้กระยาเลย (หมายถึงไม้ทุกชนิดที่ไม่ใช่ไม้สัก) ในปีหนึ่งๆ มีการตัดและจำหน่ายรวมประมาณกว่า 250,000 ท่อนต่อปี
  • ไม้เสาและไม้เข็ม มีการตัดและจำหน่ายกว่า 60,000 ท่อนต่อปี 
  • ไม้ฟืน มีการจัดทำและจำหน่ายประมาณ 2,000,000 ดุ้นต่อปี
  • ไม้ไผ่และไม้รวก (มีเฉพาะ จ.ราชบุรี และกาญจนบุรี) มีการจำหน่ายเฉพาะที่คิดได้จากด่านที่เก็บภาษี คือ ไม้ไผ่ 1,300,000 ลำและไม้รวก 4,800,000 ลำต่อปี ไม้ไผ่ ไม้รวกนี้ลำขนาดยาวพวกชาวประมงมักซื้อไปทำโป๊ะจับปลา ส่วนขนาดสั้นนำไปประกอบในการปลูกบ้านและเรือนโรงต่างๆ สำหรับที่กาญจนบุรี ไม้ไผ่และไม้รวกนี้ ยังใช้ทำเสื่อ (คล้ายๆ เสื้อหวายแต่ทนกว่า) และใช้ทำเชือกผูกมัดล่องแพไม้และโยงเรือ อีกด้วย

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ : http://www.komchadluek.net/
สมัยนั้นการตัดไม้ขายเป็นอาชีพที่สำคัญของราษฎรในเขตมณฑลราชบุรี ถือเป็นแหล่งที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศที่สำคัญ  ไม้ที่ตัดสามารถส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ (ยกเว้นไม้สัก ไม่มีในพื้นที่มณฑลราชบุรี มีเฉพาะเขตในมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งมีเขตติดต่อกัน ซึ่งตอนนั้นบริษัทล่ำซำดำเนินกิจการอยู่)  ไม้ทั้งหลายส่วนใหญ่ถูกตัดมาจากป่าในเขต อ.บ้านโป่ง จอมบึง สวนผึ้ง และในเขตเทือกเขาตะนาวศรี แล้วถูกลำเลียงตามเส้นทางรถยนต์มาลงยังบริเวณท่าน้ำที่บ้านท่าเสา ริมแม่น้ำแม่กลอง  ทำการซื้อขายกันที่ท่านี้ เสร็จแล้วจึงล่องไปขายต่อตามจังหวัดต่างๆ โดยใช้ลำน้ำแม่กลองเป็นเส้นทางขนส่งหลัก  คนที่มาซื้อไม้จากบ้านท่าเสาส่วนใหญ่จะเป็นชาวมอญ นำเรือไปซื้อและบรรทุกล่องไปขาย ตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ กรุงเทพฯ

บ้านท่าเสามีทำเลที่เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางการค้าขายในสมัยนั้น เพราะอยู่ริมน้ำแม่กลองบริเวณหน้าวัดมหาธาตุวรวิหารซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองราชบุรี  ทางด้านใต้ติดกับวัดช่องลม และศาลาว่าการมณฑลราชบุรี ด้านตะวันตกเฉียงใต้ติดกับวัดโรงช้างและวัดเขาเหลือ  ส่วนด้านเหนือน้ำก็ติดกับตำบลหลุมดิน เชื่อมขึ้นไปถึงทุ่งอรัญญิกและทุ่งเขางู

ศาลเจ้าแม่ทับทิม
ตั้งอยู่ด้านเหนือ
ของบ้านท่าเสา
ริมน้ำแม่กลองช่วงบ้านท่าเสาในสมัยนั้น ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า เต็มไปด้วยซุงและไม้ท่อนลอยน้ำอยู่ริมตลิ่ง เตรียมล่องซุง ล่องแพไปขายตามที่ต่างๆ มีบ้านที่มีลักษณะเป็นแพลอยน้ำ จอดอยู่เต็มไปหมด  เป็นที่ชุมนุมของพ่อค้าแม่ค้าไม้ และชาวเรือชาวแพทั้งหลายจากทั่วสารทิศ ดังจะเห็นร่องรอยที่ปรากฏให้เห็นคือ "ศาลเจ้าแม่ทับทิม" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านเหนือของบ้านท่าเสา ศาลเจ้าแม่ทับทิมนี้ ชาวเรือมักจะสร้างขึ้นตามจุดสำคัญๆ ในการคมนาคมทางน้ำ เพื่อเอาไว้กราบไหว้บูชา ให้ช่วยคุ้มครองป้องกันในการเดินเรือให้ปลอดภัย ดังจะเห็นได้ว่ามีศาลเจ้าแม่ทับทิมอยู่หลายแห่งในประเทศไทย 

พ่อค้าแม่ค้าไม้เสา ไม้ซุง ของบ้านท่าเสาในสมัยนั้นที่พอจะสืบค้นได้ เช่น นางระเบียบ พลจันทร (บุตรของนายกิม หงษ์ทอง ภรรยาของรองอำมาตย์ตรีจินต์ (ครูจีน) พลจันทร) นายสาย เพ่งไพฑูรย์ และพวกคนในตระกูลน้อยพานิช ถาวรกิจ และลิมปิโชติกุล

ปัจจุบัน บ้านท่าเสามีเพียงท่าขายไม้ไผ่ ไม้รวก เล็กๆ อยู่บริเวณเชิงสะพานสิริลักษณ์ เท่านั้น อาจเป็นเพราะทางราชการห้ามราษฎรตัดไม้ทำลายป่า เพราะมันมีเหลืออยู่น้อยเต็มที และอีกประการผู้คนก็เริ่มหันมาใช้วัสดุอื่นๆ แทนไม้กันเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้...บ้านท่าเสา ท่าค้าไม้สำคัญของมณฑลราชบุรี  ในวันนี้ กลายเป็นเพียงอดีตที่พึงจดจำเท่านั้น..

ร้ายขายไม้ไผ่ ไม้รวก ในปัจจุบัน
ที่บ้านท่าเสา เชิงสะพานสิริลักษณ์

**************************************************

ที่มาข้อมูล
มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 138-139)
อ่านต่อ >>