วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บ้านท่าเสา ท่าค้าไม้สำคัญของมณฑลราชบุรี


บ้านท่าเสา ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
ภาพจาก Google Map













บ้านท่าเสา ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี  นี้ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ในอดีตเคยเป็นท่าค้าไม้ที่สำคัญแหล่งหนึ่งของมณฑลราชบุรี ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2437-2476  ซึ่งตอนนั้นมณฑลราชบุรีประกอบไปด้วย 5 จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคิรีขันธ์ กาญจนบุรี และสมุทรสงคราม โดยมีศูนย์กลางมณฑลอยู่ที่ จ.ราชบุรี  ผู้เขียนเองก็เกิดที่บ้านท่าเสานี้เอง...แต่ค้นหาบันทึกเรื่องราวของบ้านท่าเสานี้ค่อนข้างยากนัก เพราะคนสมัยก่อนชอบเล่าต่อๆ กันมาไม่ค่อยมีการบันทึก  เรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ก็ค่อยๆ สูญหายและผิดเพี้ยนไป

ในปัจจุบันที่บ้านท่าเสา ก็ยังพอเห็นร่องรอยของการเป็นท่าค้าไม้ที่สำคัญในอดีตให้เห็นอยู่บ้าง โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงความเหลือเฟือของทรัพยากรไม้ในสมัยนั้น ก็คือ "การใช้เสามาทำเป็นรั้วบ้าน" โดยปักเรียงกันแบบต้นต่อต้นเรียงติดต่อกันไปจนเป็นอาณาเขตของบ้าน

ที่บ้านท่าเสาปัจจุบัน ยังมีร่องรอยของการใช้เสามาทำเป็นรั้วบ้าน
ในหนังสือสมุดราชบุรี ซึ่งพิมพ์ขึ้นปี พ.ศ.2486 ได้กล่าวถึงเรื่องไม้แก่น (ไม้เนื้อแข็ง) ต่างๆ เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ตะเคียน ไม่มะเกลือ ไม้ตะแบก ไม้อินทนิน ไม้เคี่ยม ฯลฯ รวมทั้งไม่ไผ่และ ไม้รวกด้วย ซึ่งมีอยู่มากมายในเขตป่าของ จ.ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคิรีขันธ์ โดยมียอดจำหน่าย ที่สรุปไว้ดังนี้
  • ไม้แก่นและไม้กระยาเลย (หมายถึงไม้ทุกชนิดที่ไม่ใช่ไม้สัก) ในปีหนึ่งๆ มีการตัดและจำหน่ายรวมประมาณกว่า 250,000 ท่อนต่อปี
  • ไม้เสาและไม้เข็ม มีการตัดและจำหน่ายกว่า 60,000 ท่อนต่อปี 
  • ไม้ฟืน มีการจัดทำและจำหน่ายประมาณ 2,000,000 ดุ้นต่อปี
  • ไม้ไผ่และไม้รวก (มีเฉพาะ จ.ราชบุรี และกาญจนบุรี) มีการจำหน่ายเฉพาะที่คิดได้จากด่านที่เก็บภาษี คือ ไม้ไผ่ 1,300,000 ลำและไม้รวก 4,800,000 ลำต่อปี ไม้ไผ่ ไม้รวกนี้ลำขนาดยาวพวกชาวประมงมักซื้อไปทำโป๊ะจับปลา ส่วนขนาดสั้นนำไปประกอบในการปลูกบ้านและเรือนโรงต่างๆ สำหรับที่กาญจนบุรี ไม้ไผ่และไม้รวกนี้ ยังใช้ทำเสื่อ (คล้ายๆ เสื้อหวายแต่ทนกว่า) และใช้ทำเชือกผูกมัดล่องแพไม้และโยงเรือ อีกด้วย

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ : http://www.komchadluek.net/
สมัยนั้นการตัดไม้ขายเป็นอาชีพที่สำคัญของราษฎรในเขตมณฑลราชบุรี ถือเป็นแหล่งที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศที่สำคัญ  ไม้ที่ตัดสามารถส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ (ยกเว้นไม้สัก ไม่มีในพื้นที่มณฑลราชบุรี มีเฉพาะเขตในมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งมีเขตติดต่อกัน ซึ่งตอนนั้นบริษัทล่ำซำดำเนินกิจการอยู่)  ไม้ทั้งหลายส่วนใหญ่ถูกตัดมาจากป่าในเขต อ.บ้านโป่ง จอมบึง สวนผึ้ง และในเขตเทือกเขาตะนาวศรี แล้วถูกลำเลียงตามเส้นทางรถยนต์มาลงยังบริเวณท่าน้ำที่บ้านท่าเสา ริมแม่น้ำแม่กลอง  ทำการซื้อขายกันที่ท่านี้ เสร็จแล้วจึงล่องไปขายต่อตามจังหวัดต่างๆ โดยใช้ลำน้ำแม่กลองเป็นเส้นทางขนส่งหลัก  คนที่มาซื้อไม้จากบ้านท่าเสาส่วนใหญ่จะเป็นชาวมอญ นำเรือไปซื้อและบรรทุกล่องไปขาย ตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ กรุงเทพฯ

บ้านท่าเสามีทำเลที่เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางการค้าขายในสมัยนั้น เพราะอยู่ริมน้ำแม่กลองบริเวณหน้าวัดมหาธาตุวรวิหารซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองราชบุรี  ทางด้านใต้ติดกับวัดช่องลม และศาลาว่าการมณฑลราชบุรี ด้านตะวันตกเฉียงใต้ติดกับวัดโรงช้างและวัดเขาเหลือ  ส่วนด้านเหนือน้ำก็ติดกับตำบลหลุมดิน เชื่อมขึ้นไปถึงทุ่งอรัญญิกและทุ่งเขางู

ศาลเจ้าแม่ทับทิม
ตั้งอยู่ด้านเหนือ
ของบ้านท่าเสา
ริมน้ำแม่กลองช่วงบ้านท่าเสาในสมัยนั้น ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า เต็มไปด้วยซุงและไม้ท่อนลอยน้ำอยู่ริมตลิ่ง เตรียมล่องซุง ล่องแพไปขายตามที่ต่างๆ มีบ้านที่มีลักษณะเป็นแพลอยน้ำ จอดอยู่เต็มไปหมด  เป็นที่ชุมนุมของพ่อค้าแม่ค้าไม้ และชาวเรือชาวแพทั้งหลายจากทั่วสารทิศ ดังจะเห็นร่องรอยที่ปรากฏให้เห็นคือ "ศาลเจ้าแม่ทับทิม" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านเหนือของบ้านท่าเสา ศาลเจ้าแม่ทับทิมนี้ ชาวเรือมักจะสร้างขึ้นตามจุดสำคัญๆ ในการคมนาคมทางน้ำ เพื่อเอาไว้กราบไหว้บูชา ให้ช่วยคุ้มครองป้องกันในการเดินเรือให้ปลอดภัย ดังจะเห็นได้ว่ามีศาลเจ้าแม่ทับทิมอยู่หลายแห่งในประเทศไทย 

พ่อค้าแม่ค้าไม้เสา ไม้ซุง ของบ้านท่าเสาในสมัยนั้นที่พอจะสืบค้นได้ เช่น นางระเบียบ พลจันทร (บุตรของนายกิม หงษ์ทอง ภรรยาของรองอำมาตย์ตรีจินต์ (ครูจีน) พลจันทร) นายสาย เพ่งไพฑูรย์ และพวกคนในตระกูลน้อยพานิช ถาวรกิจ และลิมปิโชติกุล

ปัจจุบัน บ้านท่าเสามีเพียงท่าขายไม้ไผ่ ไม้รวก เล็กๆ อยู่บริเวณเชิงสะพานสิริลักษณ์ เท่านั้น อาจเป็นเพราะทางราชการห้ามราษฎรตัดไม้ทำลายป่า เพราะมันมีเหลืออยู่น้อยเต็มที และอีกประการผู้คนก็เริ่มหันมาใช้วัสดุอื่นๆ แทนไม้กันเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้...บ้านท่าเสา ท่าค้าไม้สำคัญของมณฑลราชบุรี  ในวันนี้ กลายเป็นเพียงอดีตที่พึงจดจำเท่านั้น..

ร้ายขายไม้ไผ่ ไม้รวก ในปัจจุบัน
ที่บ้านท่าเสา เชิงสะพานสิริลักษณ์

**************************************************

ที่มาข้อมูล
มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 138-139)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น