วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สถานการณ์การประมง จ.ราชบุรี ปี 2553

การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
สถานภาพในปัจจุบัน ระบบการเลี้ยงค่อนข้างพัฒนาได้มาตรฐาน มีการนำเทคโนโลยีและระบบการจัดการฟาร์มมาใช้ ทุกฟาร์มได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการที่ดี ฟาร์มเล้ยงสัตว์น้ำ (GAP) จากกรมประมง ปัจจุบันมีฟาร์มอยู่ประมาณ 530 ฟาร์ม
ปัญหา/แนวโน้มของปัญหา

  1. ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์น้ำ
  2. ปัญหาเรื่องโรค โดยเฉพาะลูกกุ้ง
  3. ปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาหลัก เนื่องจากใช้น้ำจากคลองธรรมชาติ ซึ่งไหลผ่านพื้นที่มีการประกอบกิจกรรมที่หลากหลาย มีการระบายน้ำและของเสียลงสู่ลำคลองสายหลัก ที่ใช้เลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม
แนวทางการแก้ไข
  1. รัฐบาลกำกับดูแลควบคุม ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำ
  2. กรมประมงศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและถ่ายทอดให้กับภาคเอกชน
  3. ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงในระบบปิดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการปล่อยน้ำทิ้งลงแหล่งน้ำหรือให้มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงแหล่งน้ำ
  4. จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐบาลและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการใช้น้ำอย่างเหมาะสมและกำหนดขอลเขตพื้นที่ (Zoning) ในการดำเนินกิจกรรมประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ
การเลี้ยงปลาน้ำจืด
สถานภาพในปัจจุบัน แหล่งใหญ่อยู่ในเขต อ.โพธาราม, บางแพ และดำเนินสะดวก อาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงปลานิล และปลาตะเพียนขาว
ปัญหา/แนวโน้มของปัญหา ยังไม่พบปัญหาที่ชัดเจน เกษตรกรส่วนใหญ่จะรวมกลุ่ม มีตลาดค่อนข้างแน่นอน ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คือ เรื่องสภาวะน้ำเสีย เพราะส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแม่น้ำหรือคลองธรรมชาติที่ไหลผ่านพื้นที่ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งเกษตรกร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม
แนวทางการแก้ไข จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐบาลและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการใช้น้ำอย่างเหมาะสมและกำหนดขอบเขตพื้นที่ (Zoning) ในการดำเนินกิจกรรมประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ

การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม
สถานภาพในปัจจุบัน อ.บ้านโป่ง เป็นแหล่งผลิตปลาสวยงามที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีมูลค่าการผลิตเป็นมูลค่ารวมร้อยละ 90 ของประเทศ
ปัญหา/แนวโน้มของปัญหา
  1. มาตรฐานปลาสวยงามยังไม่ครอบคลุม มาตรฐานพวกการส่งออก สรอ.คือ สถานที่รวบรวมสัตว์น้ำสำหรับส่งออก, สพอ. คือ สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสำหรับส่งออก เกษตรกรยังไม่สนใจมากนัก เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ส่งออก เพราะมีความสามารถขายได้ในประเทศ เมื่อมีการสั่งซื้อสำหรับส่งออก จึงให้ความสนใจกันอีกครั้งหนึ่ง
  2. ปลาสวยงามในจังหวัดราชบุรี เป็นแหล่งที่มีปลาคุณภาพ แต่ยังขาดการควบคุมมาตรฐานภายในฟาร์ม ผู้ค้าต่างประเทศสนใจไปที่ตลาดอินโดนีเซีย ตลาดมาเลเซีย ตลาดสิงคโปร์ มากกว่า เพราะมีตลาดกลางที่แน่นอน และเป็นแหล่งรวมปลาที่มีคุณภาพ
  3. เกษตรกรยังไม่เกิดการรวมกลุ่ม ยังขายปลาสวยงามแบบตัวใครตัวมันอยู่ เกิดเกษตรกรรายใหม่ขึ้นมากมาย ทำให้คุณภาพของปลาที่ออกมาลดลง ปลาจึมีราคาถูกลง ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงโดยรวม
  4. ขั้นตอนขอใบรับรอง ต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบ เกิดความยุ่งยาก เกษตรกรเกิดความเบื่อหน่าย และรู้สึกเสียเวลา
แนวทางการแก้ไข
  1. กรมประมงร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัด ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรคของปลาสวยงามที่พบในหน้าหนาว ออกติดตามและให้ความรู้กับเกษตรกร
  2. ให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้เห็นข้อดี ข้อเสีย ของมาตรฐษนต่างๆ เหล่านั้น (GAP, สรอ.,สพอ.)
  3. จัดตลาดกลางหรือตลาดที่เป็นศูนย์กลางใน จ.ราชบุรี เพื่อจูงใจให้ต่างชาติ รู้ว่าราชบุรีเป็นแหล่งผลิตปลาสวยงามที่มีคุณภาพ มีการประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ เป็นภาษาอังกฤษ ให้ชาวต่างชาติรู้ และมีการ UPDATE ข้อมูลอยู่ตลอดเวลา มีการจัดประกวดปลาสวยงามในจังหวัด ประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติสนใจมากขึ้น
  4. กรมประมง สำนักงานประมงจังหวัด ร่วมกันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสวยงามเกิดการรวมกลุ่มกันมากขึ้น เช่น ในลักษณะของชมรม หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อรักษาคุณภาพของปลาสวยงามในกลุ่ม เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และรักษาระดับคุณภาพของปลาสวยงามของสมาชิกภายในกลุ่ม
  5. พัฒนาระบบการทำงานให้รวดเร็วขึ้น ลดขั้นตอนเรื่องคำขอ คำอนุญาต ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน แต่เพิ่มคุณภาพในการทำงานให้มากขึ้น

การเลี้ยงกุ้งขาว
สถานภาพในปัจจุบัน อ.บางแพ และ อ.โพธาราม เป็นแหล่งเลี้ยงแหล่งใหญ่ ฟาร์มทั้งหมดได้มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ GAP
ปัญหา/แนวโน้มของปัญหา
  1. การเกิดโรคระบาดในกุ้งขาวที่เลี้ยง ได้แก่ โรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง
  2. สภาวะน้ำเสีย ซึ่งเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม และกิจกรรมฟาร์มปศุสัตว์ เช่น สุกร และโคนม เป็นต้น สร้างผลกระทบต่อผลผลิตของฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งขาวที่อยู่ในบริเวณที่มีการระบายน้ำเสียผ่าน

แนวทางการแก้ไขปัญหา

  1. รณรงค์ให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงกุ้ง จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงแหล่งน้ำสาธารณะ เป็นแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดโรคระบาดกุ้ง ตามเกณฑ์มาตรฐานของฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง COC
  2. ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด สิ่งแวดล้อมจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสม และควรมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ (Zoning) โดยจัดระเบียบให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ

ที่มา : เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี (กรอ.จังหวัดราชบุรี) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.พ.2553 ณ ห้องประชุมหลวงยกกระบัตร ศาลากลาง จ.ราชบุรี

อ่านต่อ >>

สถานการณ์เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว จ.ราชบุรี ปี 2553




เศรษฐกิจหลักของประเทศ ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ และทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับคนในประเทศ โดยภาพรวมทางเศรษฐกิจ อ้างอิงจากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี เมื่อปี พ.ศ.2550 พบว่า ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ของประเทศเท่ากับ 245,659 พันล้านบาท และข้อมูลจากการรายงานประจำปี 2549 กรมส่งเสริมการส่งออกชี้แจงว่า การค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยในปี 2549 มีมูลค่า 236,574 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการส่งออกมูลค่า 129,744.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนด้านการท่องเที่ยว การบริการและโรงแรม ในปี พ.ศ.2547 มีนักท่องเที่ยวรวม 11.65 ล้านคน ร้อยละ 56.52 มาจากเอเชียตะวันออกและอาเซี่ยน (โดนเฉพาะมาเลเซียคิดเป็น ร้อยละ 11.97 ญี่ปุ่น ร้อยละ 10.33) ร้อยละ 24.29 มาจากยุโรป ร้อยละ 7.02 มาจากทวีปอเมริกาเหนือและใต้รวมกัน สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พัทยา ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวใน จ.ราชบุรี ในภาพรวมมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 9.28 แบ่งเป็นผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยมีอัตราการเพิ่มขั้นร้อยละ 16.61 ส่วนชาวต่างชาติลดลงร้อยละ 31.08 นักท่องเที่ยวชาวไทยมีสัดส่วนร้อยละ 90 ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่แหล่งท่องเที่ยวมีระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีความสะดวกสบายในการเดินทาง ทำให้นักทัศนาจรมีสัดส่วนมากขึ้น ร้อยละ 65.82

ทั้งนี้แหล่งท่องเที่ยวหลักที่ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว อาทิ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี วัดเขาวัง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ อ.สวนผึ้ง รวมทั้งการจัดเทศกาลองุ่นหวานและของดีดำเนินสะดวก จึงยังคงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น ส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว รองลงมาเป็นรถโดยสารประจำทาง และรถไฟตามลำดับ
  • นักท่องเที่ยวนิยมพักโรงแรม ร้อยละ 71
  • รองลงมาเป็นพักบ้านญาติ/บ้านเพื่อน ร้อยละ 28.76
  • การเดินทางแต่ละครั้ง มีระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 1.99 วัน
  • นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันประมาณ 884.81 บาท ลดลงร้อยละ 0.15
  • มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 705.41 ล้านบาท
  • นักทัศนาจรมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันประมาณ 648.01 บาท ลดลงร้อยละ 2.64
  • รายได้หมุนเวียนในแหล่งท่องเที่ยวประมาณ 501.43 ล้านบาท

เมื่อรวมรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,206.84 ล้านบาท และผู้เยี่ยมเยือนมีค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่จังหวัดราชบุรีประมาณ 768.18 บาท ลดลง ร้อยละ 1.42 โดยจะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาเป็นค่าซื้อสินค้าและของที่ระลึก และค่าพาหนะเดินทางในจังหวัด

สำหรับสถานการณ์พักแรมในจังหวัดราชบุรี มีสถานพักแรมจำนวนทั้งสิ้น 78 แห่ง มีอัตราการเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20.0 มีจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 2,259 ห้อง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 28.26 และระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 1.29 วัน

ที่มา : เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี (กรอ.จังหวัดราชบุรี) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.พ.2553 ณ ห้องประชุมหลวงยกกระบัตร ศาลากลางจังหวัดราชบุรี










อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความเคลื่อนไหวการลงทุนอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี ปี 2553

ข้อมูลปัจจุบัน
ปัจจุบัน จ.ราชบุรี มีโรงงานจำนวนทั้งสิ้น 1,363 โรงงาน เงินลงทุน 89,362 ล้านบาท คนงาน 55,544 คน อำเภอที่ตั้งโรงงานมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ

  • อ.บ้านโป่ง 472 โรงงาน เงินทุน 22,750 ล้านบาท คนงาน 27,447 คน
  • อ.เมือง 343 โรงงาน เงินทุน 52,142 ล้านบาท คนงาน 9,592 คน
  • อ.โพธาราม 240 โรงงาน เงินทุน 6,192 ล้านบาท คนงาน 12,229 คน

มูลค่าการผลิตและอุตสาหกรรมที่สำคัญ
มูลค่าการผลิตโดยรวมของจังหวัด หรือ GPP ของจังหวัดราชบุรีในปี 2551 มีมูลค่า 108,361 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าผลิตด้านอุตสาหกรรม 31,503 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.07 ของมูลค่าการผลิตโดยรวมของจังหวัด

ประเภทอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าการผลิตที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ อุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมเซรามิค อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมขนส่ง
การลงทุนปีที่ผ่านมา
ปี 2551
  • ตั้งใหม่ จำนวนโรงงาน 112 ราย เงินทุน 1,149 ล้านบาท คนงาน 1,937 คน
  • ขยาย จำนวนโรงงาน 10 ราย เงินทุน 94 ล้านบาท คนงาน 170 คน
  • เลิกกิจการ จำนวนโรงงาน 48 ราย เงินทุน 317 ล้านบาท คนงาน 1,032 คน

ปี 2552

  • ตั้งใหม่ จำนวนโรงงาน 116 ราย เงินทุน 911 ล้านบาท คนงาน 1,460 คน
  • ขยาย จำนวนโรงงาน 5 ราย เงินทุน 100 ล้านบาท คนงาน 77 คน
  • เลิกกิจการ จำนวนโรงงาน 57 ราย เงินทุน 555 ล้านบาท คนงาน 1,269 คน

สภาพการลงทุนและแนวโน้ม
จากสภาพวิกฤตด้านการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมประสบปัญหากันแทบทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ส่งผลกระทบให้เห็น ตั้งแต่ปี 2551-2552 มีการเลิกจ้าง ชะลอการจ้างงานในธุรกิจ ทั้งด้านการบริการและภาคการผลิตอุตสาหกรรม รวมทั้งปิดกิจการไปบางส่วน

ผลกระทบในจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบการโรงงานทั้งเล็กและใหญ่ ที่หยุดหรือเลิกกิจการไปจำนวน 105 ราย และมีการเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 2,300 ราย การลงทุนเมื่อเทียบกับปี 2551 มีการตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

แนวโน้มการลงทุนในจังหวัดราชบุรี น่าจะชะลอตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ ว่าจะส่งผลความเชื่อมั่นและสำเร็จแค่ไหน

ที่มา : เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการร่วมถาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกกิจจังหวัดราชบุรี (กรอ.จังหวัดราชบุรี) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.พ.2553 ณ ห้องประชุมหลวงยกกระบัตร ศาลากลางจังหวัดราชบุรี

อ่านต่อ >>

ผลผลิตด้านการประมงที่สำคัญของ จ.ราชบุรี


จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่ที่ไม่ติดทะเล การทำประมงภายในจังหวัด เป็นการทำการประมงน้ำจืด โดยอาศัยการจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ มีแม่น้ำแม่กลองเป็นแหล่งการทำ การประมงส่วนใหญ่มีลำคลองธรรมชาติอยู่กระจายตามอำเภอต่างๆ แหล่งน้ำที่สำคัญมีแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำภาชี และคลอง 2 คลอง คือ คลองแควอ้อม และคลองดำเนินสะดวก

ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีแหล่งผลิตอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลองในเขตอำเภอบางแพ, ดำเนินสะดวก และอำเภอเมือง มีภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่เหมาะสม สภาพแหล่งน้ำสมบูรณ์ และการคมนาคมสะดวก ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่ การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม การเพาะเลี้ยงกุ้งขาว การเลี้ยงปลาน้ำจืด
การประมงของจังหวัดมีแต่การประมงน้ำจืด โดยจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และการขุดบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา จังหวัดเคยเป็นที่อุดมสมบูรณ์ได้ด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด และเป็นการจับสัตว์น้ำในเชิงพาณิชย์ แต่ในปัจจุบันกลายเป็นการจับเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ส่งผลให้ภาวะแวดล้อมเสื่อมเสีย ทำให้จำนวนสัตว์น้ำลดลง
การทำประมงน้ำจืดจะพบในทุกอำเภอของจังหวัดและพบมากใน อ.บางแพ โดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามใน อ.บางแพ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีปัญหาด้านราคา กอปรกับมีการนำเทคโนโลยีจากการเลี้ยงกุ้งทะเลมาปรับใช้ได้ดี สามารถส่งผลผลิตให้อัตราผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น
จำนวนผู้เลี้ยงสัตว์น้ำของจังหวัดราชบุรี ปี 2552
  1. ปลาสวยงาม จำนวนเกษตรกรที่เลี้ยง 549 ราย พื้นที่เลี้ยง 1,734.24 ไร่
  2. กุ้งก้ามกราม จำนวนเกษตรกรที่เลี้ยง 944 ราย พื้นที่เลี้ยง 17,505.75 ไร่
  3. กุ้งขาว จำนวนเกษตรกรที่เลี้ยง 187 ราย พื้นที่เลี้ยง 2,550 ไร่
  4. ปลาน้ำจืด จำนวนเกษตรกรที่เลี้ยง 2,504 ราย พื้นที่เลี้ยง 15,343.87 ไร่
  5. การเพาะพันธุ์/อนุบาลกุ้งทะเล (กุ้งขาว) จำนวนเกษตรกรที่เลี่ยง 3 ราย พื้นที่เลี้ยง 27 ไร่
  6. การเพาะพันธุ์/อนุบาลสัตว์น้ำจืด (ปลา+กุ้งก้ามกราม) จำนวนเกษตรกรที่เลี้ยง 9 ราย พื้นที่เลี้ยง 78.37 ไร่

ที่มา : เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี (กรอ.จังหวัดราชบุรี) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.พ.2553 ณ ห้องประชุมหลวงยกกระบัตร ศาลากลางจังหวัดราชบุรี

อ่านต่อ >>

โครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี ปี 2551

โครงสร้างเศรษฐกิจ จ.ราชบุรีสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์ จ.ราชบุรี ณ ราคาประจำปี 2551
(ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ/ปรับปรุงข้อมูล ณ 29 ม.ค.2553)

  • สาขาไฟฟ้า ก๊าซและการประปา ร้อยละ 26.44
  • สาขาอุตสาหกรรม ร้อยละ 23.23
  • สาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 16.10
  • สาขาค้าส่ง-ค้าปลีก ร้อยละ 10.62
  • สาขาบริหารราชการแผ่นดิน ร้อยละ 4.37
  • สาขาการศึกษา ร้อยละ 4.15
  • สาขาอื่นๆ ร้อยละ 15.09
ภาวะเศรษฐกิจ จ.ราชบุรี ขึ้นอยู่กับ สาขาการไฟฟ้าก๊าซและประปา, สาขาอุตสาหกรรม,สาขาเกษตรกรรม และสาขาค้าส่ง-ค้าปลีกเป็นหลัก โดยสัดส่วนตามโครงสร้างผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) ณ ราคาประจำปี คือ ร้อยละ 26.44, 23.23, 16.10 และร้อยละ 10.62 ตามลำดับ
ในปี พ.ศ.2551 จ.ราชบุรี มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดทั้งสิ้น 112,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 103,644 ล้านบาท ในปี 2550 เท่ากับ 9,337 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวของจังหวัดราชบุรี ปี 2551 เท่ากับ 136,168 บาทต่อคนต่อปี มีจำนวนประชากรโดยประมาณ 830,000 คน
ภาคเกษตร
ในปี 2551 สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น จำนวน 18,536 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 15,986 ล้านบาท ในปี 2550 เท่ากับ 2550 ล้านบาท เนื่องจากผลผลิตและราคาพืชผลที่สำคัญยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับปี 2550 ทำให้รายได้ของเกษตรกรยังขยายตัวในเกณฑ์ดี
ภาคนอกเกษตร
ในปี 2551 สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น จำนวน 94,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 87,657 ล้านบาท ในปี 2550 เท่ากับ 6,788 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของ สาขาการไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา สาขาการค้าส่ง-ค้าปลีก และสาขาการก่อสร้างเป็นสำคัญ ขณะที่อุตสาหกรรมลดลงจากปีก่อน
สาขาการอุตสาหกรรม
ในปี 2551 สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น จำนวน 26,251 ล้านบาท ลดลงจาก 28,778 ล้านบาท ในปี 2550 เท่ากับ 2,527 ล้านบาท จากการลดลงของอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศคู่ค้าชะลอตัว ประกอบการแข็งค่าของเงินบาททำให้การส่งออกลดลง ด้านปัจจัยภายในประเทศ ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ทำให้มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
โครงสร้างการผลิตสาขาอุตสาหกรรม
โดยเฉลี่ยการผลิตสาขาอุตสาหกรรมของ จ.ราชบุรี แบ่งการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 42.19 รองลงมาเป็นการผลิตสิ่งทอสิ่งถักร้อยละ 15.49 การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะร้อยละ 9.87 บาท การผลิตเครื่องเรือนร้อยละ 5.67 การผลิตเครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้าร้อยละ 5.22 และที่เหลือเป็นการผลิตอื่นๆ ร้อยละ 21.56 ดังสรุปได้ดังนี้
  • การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 42.19
  • การผลิตสิ่งทอสิ่งถัก ร้อยละ 15.49
  • การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ ร้อยละ 9.87
  • การผลิตเครื่องเรือน ร้อยละ 5.67
  • การผลิตเครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ร้อยละ 5.22
  • การผลิตอื่นๆ ร้อยละ 21.56

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดราชบุรี (GPP) ณ ราคาประจำปี 2551p

ภาคเกษตร รวม 18,536 ล้านบาท (+) (ปี 2550=15,986 ล้านบาท) แยกเป็น

  • สาขาการเกษตรกรรม 18,194 ล้านบาท (+) (ปี 2550=15,680 ล้านบาท)
  • สาขาการประมง 342 ล้านบาท (+) (ปี 2550=306 ล้านบาท)

ภาคนอกเกษตร รวม 94,445 ล้านบาท (+) (ปี 2550=87,657 ล้านบาท) แยกเป็น

  • สาขาการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน 2,011 ล้านบาท (+) ( ปี 2550=1,866 ล้านบาท)
  • สาขาการอุตสาหกรรม 26,251 ล้านบาท (-) (ปี 2550=28,778 ล้านบาท)
  • สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา 29,871 ล้านบาท (+) (ปี 2550=22,849 ล้านบาท)
  • สาขาการก่อสร้าง 2,182 ล้านบาท (+) (ปี 2550=1,902 ล้านบาท)
  • สาขาการขายส่ง การขายปลีก 12,001 ล้านบาท (+) (ปี 2550=10,787 ล้านบาท)
  • สาขาโรงแรม และภัตตาคาร 463 ล้านบาท (+) (ปี 2550=441 ล้านบาท)
  • สาขาการขนส่ง 3,430 ล้านบาท (-) (ปี 2550=3,453 ล้านบาท)
  • สาขาตัวกลางทางการเงิน 2,431 ล้านบาท (+) (ปี 2550=2,208 ล้านบาท)
  • สาขาบริการด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,856 ล้านบาท (-) (ปี 2550=1,900 ล้านบาท)
  • สาขาการบริหารราชการแผ่นดิน 4,934 ล้านบาท (+) (ปี 2550=4,785 ล้านบาท)
  • สาขาการศึกษา 4,690 ล้านบาท (+) (ปี 2550=4,481 ล้านบาท)
  • สาขาการบริการสุขภาพ 3,187 ล้านบาท (+) (ปี 2550=3,068 ล้านบาท)
  • สาขาบริการชุมชน 1,065 ล้านบาท (-) (ปี 2550=1,071 ล้านบาท)
  • สาขาลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล 73 ล้านบาท (+) (ปี 2550=70 ล้านบาท)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดราชบุรี(GPP) 112,981 ล้านบาท (+) (ปี 2550=103,644 ล้านบาท)
รายได้ต่อตัว 136,168 บาท/คน/ปี (+) (ปี 2550=125,557 บาท) ประชากร 830,000 คน

ที่มา : เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี (กรอ.จังหวัดราชบุรี) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.พ.2553 ณ ห้องประชุมหลวงยกกระบัตร ศาลากลาง จ.ราชบุรี
อ่านต่อ >>