วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สถานการณ์การประมง จ.ราชบุรี ปี 2553

การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
สถานภาพในปัจจุบัน ระบบการเลี้ยงค่อนข้างพัฒนาได้มาตรฐาน มีการนำเทคโนโลยีและระบบการจัดการฟาร์มมาใช้ ทุกฟาร์มได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการที่ดี ฟาร์มเล้ยงสัตว์น้ำ (GAP) จากกรมประมง ปัจจุบันมีฟาร์มอยู่ประมาณ 530 ฟาร์ม
ปัญหา/แนวโน้มของปัญหา

  1. ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์น้ำ
  2. ปัญหาเรื่องโรค โดยเฉพาะลูกกุ้ง
  3. ปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาหลัก เนื่องจากใช้น้ำจากคลองธรรมชาติ ซึ่งไหลผ่านพื้นที่มีการประกอบกิจกรรมที่หลากหลาย มีการระบายน้ำและของเสียลงสู่ลำคลองสายหลัก ที่ใช้เลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม
แนวทางการแก้ไข
  1. รัฐบาลกำกับดูแลควบคุม ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำ
  2. กรมประมงศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและถ่ายทอดให้กับภาคเอกชน
  3. ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงในระบบปิดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการปล่อยน้ำทิ้งลงแหล่งน้ำหรือให้มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงแหล่งน้ำ
  4. จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐบาลและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการใช้น้ำอย่างเหมาะสมและกำหนดขอลเขตพื้นที่ (Zoning) ในการดำเนินกิจกรรมประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ
การเลี้ยงปลาน้ำจืด
สถานภาพในปัจจุบัน แหล่งใหญ่อยู่ในเขต อ.โพธาราม, บางแพ และดำเนินสะดวก อาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงปลานิล และปลาตะเพียนขาว
ปัญหา/แนวโน้มของปัญหา ยังไม่พบปัญหาที่ชัดเจน เกษตรกรส่วนใหญ่จะรวมกลุ่ม มีตลาดค่อนข้างแน่นอน ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คือ เรื่องสภาวะน้ำเสีย เพราะส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแม่น้ำหรือคลองธรรมชาติที่ไหลผ่านพื้นที่ ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งเกษตรกร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม
แนวทางการแก้ไข จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐบาลและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการใช้น้ำอย่างเหมาะสมและกำหนดขอบเขตพื้นที่ (Zoning) ในการดำเนินกิจกรรมประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ

การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม
สถานภาพในปัจจุบัน อ.บ้านโป่ง เป็นแหล่งผลิตปลาสวยงามที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีมูลค่าการผลิตเป็นมูลค่ารวมร้อยละ 90 ของประเทศ
ปัญหา/แนวโน้มของปัญหา
  1. มาตรฐานปลาสวยงามยังไม่ครอบคลุม มาตรฐานพวกการส่งออก สรอ.คือ สถานที่รวบรวมสัตว์น้ำสำหรับส่งออก, สพอ. คือ สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสำหรับส่งออก เกษตรกรยังไม่สนใจมากนัก เพราะส่วนใหญ่ยังไม่ส่งออก เพราะมีความสามารถขายได้ในประเทศ เมื่อมีการสั่งซื้อสำหรับส่งออก จึงให้ความสนใจกันอีกครั้งหนึ่ง
  2. ปลาสวยงามในจังหวัดราชบุรี เป็นแหล่งที่มีปลาคุณภาพ แต่ยังขาดการควบคุมมาตรฐานภายในฟาร์ม ผู้ค้าต่างประเทศสนใจไปที่ตลาดอินโดนีเซีย ตลาดมาเลเซีย ตลาดสิงคโปร์ มากกว่า เพราะมีตลาดกลางที่แน่นอน และเป็นแหล่งรวมปลาที่มีคุณภาพ
  3. เกษตรกรยังไม่เกิดการรวมกลุ่ม ยังขายปลาสวยงามแบบตัวใครตัวมันอยู่ เกิดเกษตรกรรายใหม่ขึ้นมากมาย ทำให้คุณภาพของปลาที่ออกมาลดลง ปลาจึมีราคาถูกลง ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงโดยรวม
  4. ขั้นตอนขอใบรับรอง ต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบ เกิดความยุ่งยาก เกษตรกรเกิดความเบื่อหน่าย และรู้สึกเสียเวลา
แนวทางการแก้ไข
  1. กรมประมงร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัด ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรคของปลาสวยงามที่พบในหน้าหนาว ออกติดตามและให้ความรู้กับเกษตรกร
  2. ให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้เห็นข้อดี ข้อเสีย ของมาตรฐษนต่างๆ เหล่านั้น (GAP, สรอ.,สพอ.)
  3. จัดตลาดกลางหรือตลาดที่เป็นศูนย์กลางใน จ.ราชบุรี เพื่อจูงใจให้ต่างชาติ รู้ว่าราชบุรีเป็นแหล่งผลิตปลาสวยงามที่มีคุณภาพ มีการประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ เป็นภาษาอังกฤษ ให้ชาวต่างชาติรู้ และมีการ UPDATE ข้อมูลอยู่ตลอดเวลา มีการจัดประกวดปลาสวยงามในจังหวัด ประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติสนใจมากขึ้น
  4. กรมประมง สำนักงานประมงจังหวัด ร่วมกันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสวยงามเกิดการรวมกลุ่มกันมากขึ้น เช่น ในลักษณะของชมรม หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อรักษาคุณภาพของปลาสวยงามในกลุ่ม เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และรักษาระดับคุณภาพของปลาสวยงามของสมาชิกภายในกลุ่ม
  5. พัฒนาระบบการทำงานให้รวดเร็วขึ้น ลดขั้นตอนเรื่องคำขอ คำอนุญาต ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน แต่เพิ่มคุณภาพในการทำงานให้มากขึ้น

การเลี้ยงกุ้งขาว
สถานภาพในปัจจุบัน อ.บางแพ และ อ.โพธาราม เป็นแหล่งเลี้ยงแหล่งใหญ่ ฟาร์มทั้งหมดได้มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ GAP
ปัญหา/แนวโน้มของปัญหา
  1. การเกิดโรคระบาดในกุ้งขาวที่เลี้ยง ได้แก่ โรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง
  2. สภาวะน้ำเสีย ซึ่งเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม และกิจกรรมฟาร์มปศุสัตว์ เช่น สุกร และโคนม เป็นต้น สร้างผลกระทบต่อผลผลิตของฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งขาวที่อยู่ในบริเวณที่มีการระบายน้ำเสียผ่าน

แนวทางการแก้ไขปัญหา

  1. รณรงค์ให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงกุ้ง จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงแหล่งน้ำสาธารณะ เป็นแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดโรคระบาดกุ้ง ตามเกณฑ์มาตรฐานของฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง COC
  2. ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด สิ่งแวดล้อมจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสม และควรมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ (Zoning) โดยจัดระเบียบให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ

ที่มา : เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี (กรอ.จังหวัดราชบุรี) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.พ.2553 ณ ห้องประชุมหลวงยกกระบัตร ศาลากลาง จ.ราชบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น