วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สถานการณ์เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว จ.ราชบุรี ปี 2553




เศรษฐกิจหลักของประเทศ ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ และทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับคนในประเทศ โดยภาพรวมทางเศรษฐกิจ อ้างอิงจากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี เมื่อปี พ.ศ.2550 พบว่า ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ของประเทศเท่ากับ 245,659 พันล้านบาท และข้อมูลจากการรายงานประจำปี 2549 กรมส่งเสริมการส่งออกชี้แจงว่า การค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยในปี 2549 มีมูลค่า 236,574 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการส่งออกมูลค่า 129,744.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนด้านการท่องเที่ยว การบริการและโรงแรม ในปี พ.ศ.2547 มีนักท่องเที่ยวรวม 11.65 ล้านคน ร้อยละ 56.52 มาจากเอเชียตะวันออกและอาเซี่ยน (โดนเฉพาะมาเลเซียคิดเป็น ร้อยละ 11.97 ญี่ปุ่น ร้อยละ 10.33) ร้อยละ 24.29 มาจากยุโรป ร้อยละ 7.02 มาจากทวีปอเมริกาเหนือและใต้รวมกัน สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พัทยา ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวใน จ.ราชบุรี ในภาพรวมมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 9.28 แบ่งเป็นผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยมีอัตราการเพิ่มขั้นร้อยละ 16.61 ส่วนชาวต่างชาติลดลงร้อยละ 31.08 นักท่องเที่ยวชาวไทยมีสัดส่วนร้อยละ 90 ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่แหล่งท่องเที่ยวมีระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีความสะดวกสบายในการเดินทาง ทำให้นักทัศนาจรมีสัดส่วนมากขึ้น ร้อยละ 65.82

ทั้งนี้แหล่งท่องเที่ยวหลักที่ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว อาทิ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี วัดเขาวัง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ อ.สวนผึ้ง รวมทั้งการจัดเทศกาลองุ่นหวานและของดีดำเนินสะดวก จึงยังคงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น ส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว รองลงมาเป็นรถโดยสารประจำทาง และรถไฟตามลำดับ
  • นักท่องเที่ยวนิยมพักโรงแรม ร้อยละ 71
  • รองลงมาเป็นพักบ้านญาติ/บ้านเพื่อน ร้อยละ 28.76
  • การเดินทางแต่ละครั้ง มีระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 1.99 วัน
  • นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันประมาณ 884.81 บาท ลดลงร้อยละ 0.15
  • มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 705.41 ล้านบาท
  • นักทัศนาจรมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันประมาณ 648.01 บาท ลดลงร้อยละ 2.64
  • รายได้หมุนเวียนในแหล่งท่องเที่ยวประมาณ 501.43 ล้านบาท

เมื่อรวมรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,206.84 ล้านบาท และผู้เยี่ยมเยือนมีค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่จังหวัดราชบุรีประมาณ 768.18 บาท ลดลง ร้อยละ 1.42 โดยจะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาเป็นค่าซื้อสินค้าและของที่ระลึก และค่าพาหนะเดินทางในจังหวัด

สำหรับสถานการณ์พักแรมในจังหวัดราชบุรี มีสถานพักแรมจำนวนทั้งสิ้น 78 แห่ง มีอัตราการเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20.0 มีจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 2,259 ห้อง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 28.26 และระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 1.29 วัน

ที่มา : เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี (กรอ.จังหวัดราชบุรี) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.พ.2553 ณ ห้องประชุมหลวงยกกระบัตร ศาลากลางจังหวัดราชบุรี










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น