
ระยะทางในภุมิประเทศจากช่องห้วยคอกหมูใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ถึงเมืองเป (PE) ริมฝั่งทะเลอันดามัน ในพม่า มีระยะเพียงประมาณ 120 กิโลเมตร โดยเส้นทางด้านที่ติดอยู่กับประเทศไทย เป็นระยะยาว 2 ใน 3 ของเส้นทาง มีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขา มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ส่วนเส้นทางสู่ทะเลอันดามันที่เหลืออีกประมาณ 1 ใน 3 มีลักษณะเป็นถนนดินที่มีอยู่เดิม ซึ่งในไปสู่เมืองเป (PE) มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีเมืองต่างๆ ตามรายทาง คือ เมืองเย็บบู (YEBU) เมืองมิยังเบียง (MIGYAUNBYUAIN) เมืองลิชชี (LICHE) และเมืองเพตากัท (PETAKAT) สำหรับเมืองเป (PE) หากได้รับการพัฒนาจะกลายเป็นเมืองยุทธศาสตร์ เนื่องจากเหตุผลในด้านทำเลที่ตั้งเมือง ดังนี้ คือ
- เมืองเป (PE) อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างเมืองทวายและเมืองมะริด และทางหลวงที่เชื่อมระหว่างเมืองทวายและเมืองมะริดตัดผ่านพอดี
- การศึกษาของ บริษัท อันดามันซี โทลเวย์และพอร์ต จำกัด (ANDAMAN SEA TOLLWAY&PORT LTD.) เมื่อ พ.ศ.2543 ระบุว่า "ชิเทียงยี" ซึ่งอยู่ใกล้เมืองเป (PE) มีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างเป็นท่าเรือมาตรฐานนานาชาติ เนื่องจากจากพื้นที่บริเวณนี้ มีสิ่งป้องกันโดยธรรมชาติทางฝั่งเหนือ ได้แก่ ภูเขาที่เป็นแนวกำแพงธรรมชาติในทะเล แต่ก็ยังต้องการเขื่อนป้องกันคลื่นทางด้านทิศใต้ เนื่องจากในฤดูมรสุม คลื่นจะมีขนาดใหญ่
- เมืองเป (PE) อยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานครมากกว่าเมืองใดๆ ในสหภาพพม่า ที่อยู่ติดกับทะเลอันดามัน คือมีระยะทางตามภูมิประเทศ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 300 กิโลเมตรเท่านั้น
ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาของ จ.ราชบุรี กรมการทหารช่างจึงได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาใช้ในการวิเคราะห์และออกแบบแนวเส้นทาง โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการจัดทำแผนที่เส้นทาง ซึ่งมีรายละเอียดตามผังที่แนบ และได้นำเสนอในงานแถลงศักยภาพและบทบาทของกรมการทหารช่าง กับงานยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ราชบุรี ต่อ หัวหน้าส่วนราชการทั้งภาครัฐและเอกชนและกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2547 ที่ผ่านมา
ซึ่งหลังจากนั้น จังหวัดราชบุรี จึงได้ออกคำสั่งที่ 2313/2547 ลงวันที่ 20 ก.ย.2547 แต่งตั้งคณะทำงานสำรวจและศึกษาความเหมาะสมเชิงพานิชย์ ในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ระหว่างไทย-สหภาพพม่า ด้าน จ.ราชบุรี เพื่อสำรวจและศึกษาสภาพพื้นที่ศักยภาพ ตลอดจนความเหมาะสมเชิงพาณิชย์ ในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมจาก จ.ราชบุรีสู่ฝั่งทะเลอันดามัน
แม้จะไม่มีถนนที่สะดวกสบายในสหภาพพม่า เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่การค้าระหว่าง 2 ประเทศ ที่มีพรมแดนติดต่อกัน จาก จ.เชียงราย ถึง จ.ระนอง ในปี 2546 ที่ผ่านมา ก็มีมูลค่ารวมถึง 57,716 ล้านบาท โดยไทยเป็ยฝ่ายขาดดุลการค้าอยู่ถึง 33,675 ล้านบาท และมูลค่าการค้าขายระหว่างไทย-พม่า ก็ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวมา
กขึ้น ท่ามกลางกระแสความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหภาพพม่านั่นเอง โดย จ.ราชบุรี แม้จะมีพรมแดนติดต่อกับพม่า แต่ก็ไม่มีมูลค่าการค้าขายระหว่างกันเกิดขึ้นเลย นับตั้งแต่การปิดจุดผ่านแดนเพื่อนำเข้าไม้จากพม่า เมื่อปี 2535 เป็นต้นมา สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังสหภาพพม่าในปี 2546 คือ อุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,802 ล้านบาท ส่วนสินค้าส่งออกที่สำคัญของสหภาพพม่า มายังประเทศไทย ในปี 2546 คือ เชิ้อเพลิง ซึ่งมีมูลค่าถึง 44,272 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การสร้างถนนจาก จ.ราชบุรี สู่ทะเลอันดามัน จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้าระหวางประเทศไทยกับสหภาพพม่าอย่างมหาศาล โดยเฉพาะนักธุรกิจชาวไทยที่มีสินค้าต่างๆ ทุกชนิดพร้อมที่จะส่งออก แต่ก็จำกัดด้วยเส้นทางคมนาคม ที่จะนำสินค้าเข้าสู่เมืองสำคัญในสหภาพพม่า ยิ่งไปกว่านั้น เส้นทางสาย จ.ราชบุรี สู่ทะเลอันดามัน จะสามารถร่นระยะทางที่จะขนสินค้าไปสู่อินเดีย และยุโรป ได้อีกด้วย โดยคาดว่า หากได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจากรัฐบาลทั้งสองประเทศแล้ว โครงการนี้จะสร้างผลประโยชน์ให้กับไทยและสหภาพพม่า ดังนี้
- ประเทศไทยมีเส้นทางขนถ่ายสินค้าสู่ท่าเรือในทะเลอันดามันที่สั้นที่สุดราว 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะสามารถประหยัดเงินและเวลาในการขนส่งผ่านท่าเรือสิงค์โปร์ ที่จะต้องมีระยะทางเพิ่มขึ้น 1,250 ไมล์ทะเล (2,312 กิโลเมตร) หรือราว 3 วัน เพื่อส่งสินค้าไปหรือจากอินเดีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
- เพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศของไทยกับสหภาพพม่า โดยสินค้าที่สหภาพพม่าต้องการจากไทย ได้แก่ สินค้าอุปโภค บริโภค และวัสดุก่อสร้างทุกชนิด ส่วนสินค้าที่ไทยต้องการจากสหภาพพม่า ได้แก่ เชื้อเพลิง ประมง ปศุสัตว์ แร่ธาตุต่างๆ และพืชผลทางเกษตร
- เปิดโอกาสให้นักลงทุนไทย เข้าไปลงทุนผลิตสินค้าในสหภาพพม่าได้ โดยอาศัยโครงงานถนน (Land Bridge) และท่าเรือในการขนส่งผลิตผล โดยคาดว่าอุตสาหกรรมที่มีความเป็นไปได้ในการลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมทอผ้า, อัญมณี,การแปรรูปอาหารทะเลและสินค้าการเกษตร, การทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมที่รองรับการท่องเที่ยวได้แก่ โรงแรม การนำเที่ยว ภัตตาคาร สถานบันเทิง คาซิโน เป็นต้น
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่วของไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในลักษณะที่เป็น Package Tour เนื่องจากระยะทางไปยังแม่น้ำตะนาวศรี และเมือเป ไม่ไกลมากนัก สามารถเดินทางไป-กลับได้ภายในวันเดียว อันจะช่วยส่งเสริมการเดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ และกระตุ้นให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวที่ จ.ราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์โดยตรง คือ โรงแรม การท่องเที่ยว ภัตตาคาร ตลอดจนอุตสาหกรรมผลิตสินค้าที่ระลึกและของใช้เบ็ดเตล็ดต่างๆ (เครื่งปั้นดินเผา,ทอผ้า ฯลฯ)
- ส่งผลให้เกิดการอพยพกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เนื่องจากมีการลงทุนและการจ้างงานในสหภาพพม่า จึงเป็นการสะดวกกว่าที่จะทำงานในประเทศของตน และไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสองฝ่าย
- เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับทั้งสองชาติ เนื่องจากเป็นการนำเอาความแตกต่างที่มีอยู่มาสร้างเป็นจุดแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
แนวทางในการดำเนินการ
- 1 ปี --->จัดทำการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (Feasibility Study) และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Enviroment Impact Assessment)
- 8 เดือน ---> การสำรวจและออกแบบรายละเอียด (Survey and Detailed Design)
- 5 ปี --->การก่อสร้าง (ถนน+ท่าเรือ)
- 5 ปี ขึ้นไป ---> การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม
จากการประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการและแอย่างไม่เป็นทางการจำนวนหลายครั้งที่ผ่านมา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมทั้งส่วนราชการทุกส่วนใน จ.ราชบุรี และหอการค้า จ.ราชบุรี ต่างให้ความสนใจที่จะขยายผลแนวความคิดนี้ ไปสู่การปฏิบัติโดยเร็วที่สุด เพื่อขยายโอกาสทางการค้าของภูมิภาค จึงสมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อศึกษารายละเอียดการจัดทำโครงการต่อไป
ที่มา : กรมการทหารช่าง.(______). เอกสารบรรยายสรุปโครงการเส้นทางเศรษฐกิจ ราชบุรี สู่อันดามัน. เอกสารจริง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น