วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทิศทางการพัฒนาอ้อยและน้ำตาลจังหวัดราชบุรี พ.ศ.2553-2556

จ.ราชบุรีมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากเป็นอันดับที่ 14 ใน 47 จังหวัด ที่มีการปลูกอ้อยของประเทศไทย โดย จ.กาญจนบุรีมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดของประเทศ สำหรับพื้นที่ปลูกในภูมิภาคตะวันตก จ.ราชบุรีมีพื้นที่ปลูกรองจาก จ.กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี

กลุ่มยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตร สำนักงานการเกษตรและสหกรณ์ จ.ราชบุรี ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาอ้อยและน้ำตาลของ จ.ราชบุรี ในปี พ.ศ.2553-2556 สรุปดังนี้

การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของการผลิตอ้อยและน้ำตาลของ จ.ราชบุรี  (เมื่อเดือน ต.ค.2553)

ปัจจัยภายในราชบุรี

จุดแข็ง (Strength) ได้แก่
  1. อ้อยโรงงานเป็นพืชพลังงานที่มีศักยภาพสูง เมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน อีกทั้งทุกภาคส่วนมีการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและการหาพลังงานทดแทน นอกจากนำมาผลิตน้ำตาลแล้ว ยังสามารถผลิตเอทานอลได้ด้วย
  2. อ้อยโรงงานเป็นพืชที่มีศักยภาพในการพัฒนาการผลิต ให้มีคุณภาพดีตามความต้องการของโรงงาน และปริมาณผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่สูงได้ หากมีการส่งเสริมให้ใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม และบริหารจัดการที่ดี
  3. หน่วยงานภาครัฐ มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ปลูกอ้อยของจังหวัดครบทุกตำบล ขณะที่ผู้แทนเกษตรกร มีเกษตรชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่และหัวหน้าโควต้า เป็นเครือข่ายกระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัด สามารถประสานการดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ
  4. มีโรงงานน้ำตาลและเอทานอลในพื้นที่ ที่ให้การส่งเสริมการผลิตและรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร
  5. สภาพพื้นที่และภูมิอากาศของ จ.ราชบุรี มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของอ้อย ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในที่ลุ่มที่ดอน
  6. อ้อยเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายปี
  7. มีหน่วยงานภาครัฐด้านการวิจัยและพัฒนาการเกษตรอยู่ในพื้นที่ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเคโนโลยีได้ง่าย
จุดอ่อน (Weakness) ได้แก่
  1. อ้อยพันธุ์ดีที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ยังไม่สามารถกระจายถึงมือเกษตรกร ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดได้ เนื่องจากแปลงพันธุ์ดีมีไม่เพียงพอ
  2. การผลิตอ้อยของเกษตรกร ยังไม่ได้คุณภาพ เช่น การเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว(เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ไร่อ้อยไม่สะอาด) ตัดอ้อยยอดยาว มีสิ่งเจือปนในอ้อยเนื่องจากการคีบ เป็นต้น
  3. เกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชอ้อยระบาด และมีแนวโน้มว่าจะระบาดรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น หากไม่ได้ดำเนินการป้องกันและกำจัดอย่างถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่อง โรคและแมลงที่สำคัญ ได้แก่ โรคใบขาว และแมลงนูนหลวง
  4. ดินขาดความอุดมสมบูรณ์
  5. ใช้แรงงานมากและทุนการผลิตที่สูง
  6. ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อย ร้อยละ 80 อยู่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนในการเจริญเติบโต ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อการเพิ่มผลผลิต ผลผลิตต่อไร่จึงต่ำ
  7. เกษตรกรไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่ม (กลุ่มเกษตรกร, กลุ่มสหกรณ์ ฯลฯ) ที่ทางการรับรอง ทำให้เกษตรกรไม่มีความเข้มแข็ง การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ
ปัจจัยภายนอก

โอกาส (Opportunity) ได้แก่
  1. รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานชีวภาพจากการผลิตทางการเกษตร เป็นพลังงานทดแทน และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตการเกษตร
  2. การส่งเสริมการผลิตอ้อยโรงงาน มีคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่นเขต 2 จังหวัดราชบุรี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน (ผู้แทนโรงงาน) และผู้แทนเกษตรกรที่เป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่มีทั้งภาคราชการ เอกชน และเกษตรกร และมีกฏหมายรองรับเป็นการเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527
  4. อ้อยเป็นพืชพลังงานที่มีศักยภาพสูงในการผลิตเป็นพลังงานทดแทน และมีความต้องการสูง
  5. ทีเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่ทันสมัย
อุปสรรค (Threat) ได้แก่
  1. พื้นที่ปลูกอ้อยของจังหวัดราชบุรี ร้อยละ 82 อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรต้องอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตอ้อยต่ำ และมีความเสี่ยงในการผลิต
  2. การส่งเสริมการผลิตอ้อย ของคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่น เขต 2 จังหวัดราชบุรี ดำเนินการได้ในสัดส่วนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดของจังหวัด และการขยายผลสู่เกษตรกรเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ
  3. ไม่มีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่ชัดเจน ในการของบประมาณสนับสนุนจากทางราชการ

จังหวัดราชบุรี จึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาการผลิตอ้อยและน้ำตาลของจังหวัด ดังนี้
  1. ส่งเสริมแปลงขยายอ้อยพันธุ์ดีแก่เกษตรกร
  2. ส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์
  3. ส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่นาไม่เหมาะสม และใกล้โรงงาน
  4. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน
  5. ภาครัฐสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างทั่วถึง
  6. ภาครัฐควรมีการประกันราคาอ้อยตามความเป็นจริง เพื่อให้สอดคล้องกับราคาปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนสูงขึ้น
วิสัยทัศน์การพัฒนา : "จังหวัดราชบุรีเป็นแหล่งผลิตอ้อยที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ"
พันธกิจ
  1. สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษ๖รกรในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตอ้อย
  2. พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของอ้อย อย่างน้อย 10%
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาบริหารจัดการอ้อย ประกอบด้วยกลยุทธ์/แนวทางการพัฒนา
  1. บูรณาการแผนงาน/โครงการการพัฒนาอ้อย
  2. ส่งเสริมผลักดันโครงการพัฒนาอ้อย
  3. ติดตามประเมินผลโครงการ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิตและคุณภาพอ้อย ประกอบด้วยกลยุทธ์/แนวทางการพัฒนา
  1. ส่งเสริมพัฒนาการผลิตอ้อยให้มีประสิทธิภาพ
  2. ส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยให้เข้มแข็ง
  3. ส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลิตอ้อยให้มีคุณภาพ
--------------------------------------------------------------

ที่มาข้อมูล
กลุ่มยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี. (2553). แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอ้อยจังหวัดราชบุรี. เอกสารประกอบการประชุม. (หน้า 28-33).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น